OUR REVIEW OF 2020

OUR REVIEW OF 2020

#lessonsfrom2020 #firstpostof2021

เราอยากใช้เวลาต้นปีใหม่ ค่อยๆ สะท้อนประสบการณ์และบทเรียนจากปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะเดินหน้าต่อในปีนี้ ที่ดูทรงแล้วน่าท้าทายไม่น้อยไปกว่ากัน

กลับไปมอง 2020 ช่างเป็นปีที่ครบรส ทั้งขม ฝาด เปรี้ยว หวาน กลมกล่อม สัญชาตญาณการอยู่รอดและความโกลาหล ทำให้เราต้องปรับตัว เร่งโต ให้ได้ลองสิ่งที่ไม่เคยลอง ให้ได้เห็นจุดอ่อน-จุดแข็งของเรา ทั้งปัจเจก และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์กร(น้อยๆ)นี้

บทความนี้จะเล่าถึงการเดินทางที่แสนหรรษาของโฟล์คชาร์มในปี 2020 ที่ผ่านมา ที่มีทั้งหลงป่า ปีนเขา วิ่งมาราธอน เดินชมสวน นั่งจิบกาแฟ เราจะเล่าโดยแบ่งเป็นกิจกรรมหลักๆที่เกิด 7 Phases และสรุปบทเรียนใว้ตอนท้าย เผื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆที่เลือกทางเดินคล้ายๆกัน

… เราเริ่มต้นปีด้วยการออกงานเช่นเคย Bangkok Edge Festival ต่อด้วย Greenery Market หลังจากนั้นเราก็ได้จัด “Slow Fashion Expedition” ร่วมกับ Fashion Revolution Thailand ชวนหนุ่มสาวชาวกรุงไปพบปะกับแม่ๆ สัมผัสวิถีธรรมชาติและกระบวนการของฝ้ายทำมือ เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะเรามีการจัดวงพูดคุย หารือ สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ เราจำได้ว่าตอนนั้นเรารู้สึกอิ่มเอมใจมาก ว่าการเดินทางของเรากว่าห้าปีที่ผ่านมา ได้เป็นประโยชน์ต่อคนเมืองที่มาร่วมทริป ช่างเป็นการเริ่มต้นปีที่ดีจัง 

… จนกระทั่งคืนก่อนวันกลับ เราได้รับแจ้งว่างานใหญ่ประจำปีงานหนึ่ง จะต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ความรู้สึกเหมือนในภาพยนต์อินดี้ หูชา โลกดับไปชั่วขณะ… เพราะเราวางแผนปีใว้อย่างดี ลงทุนไปก้อนใหญ่เพื่อให้มีการผลิตผ้าให้เป็นระบบมากขึ้น และได้เร่งการตัดเย็บใว้ตั้งแต่ปลายปีก่อน เพื่อออกงานที่เราวางแผนไว้ยาวถึงปลายปีนี้

ไม่ได้คิดจริงๆ ว่า “ไวรัสโคโรน่า” จะมีบทบาทกับเรามากขนาดนี้

Phase I  •  Folkcharm’s Pure Cotton Face Mask, Going Fully Online and the Biggest Challenge Yet

กลับมาจากทริปปลายเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยสต๊อกผ้าที่หนาแน่น และสต๊อกสินค้าที่เต็มกำลังผลิต ร้านที่รายได้มาจากการออกร้านเกือบ 90% จะปรับตัวอย่างไร โรคระบาดนี้จะอยู่กับเรานานขนาดไหนก็ไม่มีใครรู้ 

นั่งงงในดงผ้าอยู่สามสี่วัน จำได้ว่าวันนั้นลุงปรีชามาส่งงานพอดี เลยชวนลุงลองขึ้นแบบหน้ากาก ร่วมสัปดาห์กว่าจะสร้างแพทเทิร์น ปรับแบบ หาวิธีเย็บ ลองผิดลองถูกจนได้ต้นแบบ 3 ชิ้น 3 ขนาดแรก ค่อยๆคิดถึงการใช้งาน วัตถุดิบที่ใช้ ที่อยากให้ทั้งใส่สบาย ใช้งานได้ดี ไม่สร้างภาระต่อให้กับสิ่งแวดล้อม

การตอบรับเกินคาดเพราะเป็นแบรนด์แรกๆที่ทำหน้ากากผ้าออกมาจำหน่าย มีออร์เดอร์มามากกว่าที่จะรับไหว ทีมภายในไม่มีประสบการณ์การตอบลูกค้าหลักร้อยคนในหนึ่งวัน ช่างเย็บผ้าก็ไม่เคยตัดงานขนาดเล็กเช่นหน้ากาก การจัดการออร์เดอร์ คุณภาพงาน และการจัดส่ง สตูดิโอโฟล์คชาร์มกลายเป็นโรงงานหน้ากากขนาดย่อม กลับไปคิดถึงความรู้สึกช่วงนั้นก็จะมีทั้งความโกลาหล ความพลั้งพลาด ความกดดัน ความฮึดสู้ ความสนุก ความสามัคคี ซ้ำยังเผชิญปัญหาใหญ่ ตอนที่พบว่าสายหน้ากากส่งออกไปหลายร้อยอันตัดผิด ต้องแก้ปัญหาโดยการติดต่อกลับลูกค้าทุกคน จัดส่งใหม่ ซึ่งเป็นบนเรียนราคาแพงและวัดใจพอควร แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่พอชื่นใจได้บ้าง

Phase II  •  Relentless Product Development and Our First Ever Pre-Order Campaign

พอร้านรวงเริ่มทำหน้ากากผ้าออกมาขายกันมากขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน เราก็เริ่มคิดการออกแบบหน้ากากที่ตอบการใช้งานแบบใหม่ๆ พร้อมคิดถึงกิจกรรมใหม่ๆ โดยนำเอาสต๊อกบานเบอะที่เตรียมออกงานเอาใว้มาจัดเซ็ทพร้อมหน้ากาก อีกทั้งออกแบบหน้ากากแบบ Long Strap เพื่อรองรับการใส่สบายตลอดวันสำหรับคนที่เริ่มกลับไปทำงาน และสายหน้ากาก Mask Strap ที่ไม่เหมือนแบรนด์ใดในโลก นำเสนอโดยลุงปรีชา

ระหว่างนั้นเริ่มมีลูกค้าอยากได้ชุดตามแบบของตัวเอง อีกทั้งเพื่อให้ช่างตัดเย็บมีงานต่อเนื่อง จึงลองเปิดรับพรีออร์เดอร์ โดยให้ลูกค้าเลือกลายผ้า และสั่งตัดตามแบบที่ต้องการ เป็นครั้งแรกเลยที่รับตัดงานลักษณะนี้ เป็นความต้องการของลูกค้าที่เราเลี่ยงมาตลอด ด้วยผ้าที่ราคาสูง ลายผ้าที่หลากหลาย และช่างเย็บที่ทำงานที่บ้านทุกคน งานพรีออร์เดอร์ต้องใช้การจัดการและความแม่นยำ อีกทั้งมีต้นทุนด้าน logistics ที่สูงมากอีกด้วย

เอาน่า! ลองก็ลอง เราจัด Campaign นี้โดยไม่คิดราคาเพิ่ม เป้าหลักคือให้ทุกคนมีอะไรทำต่อเนื่อง ตามคาดต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม และด้านการจัดการหลังบ้านก็ใช่ว่าจะพร้อม หากตัดผ้าพลาดหรือช่างตัดพลาดคือขาดทุนทันที ผ้าต้องถูกตัดที่ละออร์เดอร์เพื่อส่งไปให้ช่างเพื่อลงเย็บทีละตัว กระบวนการช้าลง มีรายละเอียดมากขึ้น พวกเราจึงอลหม่านในการวางระบบ ลองสร้าง flow การทำงาน ออกแบบฟอร์มและข้อตกลง เพื่อแก้จุดบอด หากเจอปัญหาก็กลับมาคิดกันใหม่และพัฒนา แม้จะพยายามถึงที่สุด ความพลาดพลั้งก็ยังเกิดกันทุกสัปดาห์ จนทีมเกือบถอดใจกันไปหลายครั้ง แต่ก็ฮึดสู้ Campaign นี้ทำให้ทีมภายในและช่างไม่ว่างมือเลยไปอีกหลายเดือน เราทยอยออกงานพรีออร์เดอร์นี้เรื่อยมา พร้อมกับการ  Soft Launch เปิดให้สั่ง Design ที่ออกแบบใหม่ๆ ตลอดปี

Phase III  •  Back Office Work and Story-telling

ทีมเริ่มเก่งขึ้นในการขายออนไลน์ ระบบหลังบ้านก็เริ่มเป็นที่เป็นทางมากขึ้น แม้ก็ยังไม่ค่อยจะราบรื่นซะทีเดียว เราใช้เวลาที่มีมาทำสิ่งสำคัญที่ long overdue คือการให้เวลากับ “การสื่อสาร” ซึ่งหากเป็นเวลาเดียวกันกับปีก่อนๆ คงยังวุ่นอยู่กับการออกร้าน เวลาที่เริ่มได้อยู่นิ่งๆนี้ให้โอกาสเราได้เล่าเรื่อง “Cotton Journey” การเดินทางของฝ้ายอย่างจริงจัง ตั้งแต่การปลูก การทอ การตัดเย็บ มาถึงวงจรชีวิต คุณค่า คุณภาพ ข้อจำกัดของฝ้ายของโฟล์คชาร์ม ผลงานออกมาเป็น content สามตอน ที่เล่าอย่างละเอียด ระหว่างที่เขียนก็ไม่ได้คิดถึงผลลัพธ์ของสิ่งทุ่มเทนี้เลย เพียงคิดว่าเป็นการสร้างจริตที่ดี ในการสื่อถึงคุณค่าในงานที่เราให้ความสำคัญ เพราะหลังจากนั้นก็ได้โอกาสเล่าเรื่องและประสบการณ์ของผ่าน Blog ในเว็บไซต์ และ Update เรื่องราวใน website เรื่อยมา เล่าเรื่องกระบวนการ แนวคิดการทำงาน คุณค่าที่เราให้ในการออกแบบสร้างงานแต่ละชิ้นงาน ทั้งการทำงานภายใน การทำงานร่วมกับช่างเย็บ และกระบวนการชุมชน อย่างลึกซึ้งขึ้น

Phase IV  •   Understanding Our Customers

ประโยชน์ของการจำหน่ายออนไลน์อย่างหนึ่งคือการที่ได้รู้จักและเข้าใจลูกค้าหลากหลายรูปแบบผ่านการพูดคุย ได้เริ่มเก็บข้อมูล สร้างฐานข้อมูล จังหวะพอดีกับการโครงการ Design Thinking in Action ของ LUKKID & Asian Leadership Academy เปิดรับการใช้กระบวนการ Design Thinking เพื่อแก้ปัญหาหรือเรียนรู้ในประเด็นสังคมต่างๆ เราจึงได้ใ้ช้กระบวนการที่โครงการออกแบบมาใช้ในการทำ Customer Insight Research ใด้สัมภาษณ์ลูกค้าเชิงลึก เพื่อได้เข้าใจพฤติกรรม ชีวิตประจำวัน รสนิยม และความต้องการมากขึ้น โดย มีการ brainstorm ประเด็นคำถาม และจะต้องสัมภาษณ์เชิงลึกทั้ง Top Fan ลูกค้าประจำ / Common ผู้ที่เคยอุดหนุน แต่ไม่บ่อย / และ Non-user ผู้ที่รู้จักโฟล์คชาร์ม แต่ไม่คิดที่จะซื้อเลย สิ่งที่ได้ค้นพบ คือจุดแข็ง จุดอ่อน ของเราเอง และใคร คนแบบไหน คือลูกค้าของเราจริงๆ การเรียนรู้ครั้งนี้สะท้อนออกมาเป็นแนวทางทั้งการออกแบบงาน การทำการตลาด จุดที่ควรซ่อม-แก้ จุดที่ทำดีอยู่แล้วและควรทำให้ดีขึ้นอีก

Phase V  •  Post Lockdown: Business As Unusual

เราเริ่มกลับมาออกร้านอีกครั้ง ช่วงปลายเดือนสิงหาคม จากการชวนของ Root the Future ตอนนั้นถึงขั้นสับสนเล็กน้อย ว่าจะเอาอะไรไปขายบ้างดี (สต๊อกเยอะเหลือเกิน) จัดร้านยังไงนะ เกือบจะลืมไปแล้ว …หลังจากนั้นก็ออกงานใหญ่ Craft Bangkok 2020 ที่เลื่อนมาจากต้นปี และออกตลาดทั้งจากวางแผนใว้ และจากโอกาสที่เข้ามาใหม่ตลอดมาจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน รู้สึกลุ้นตลอดเวลาเพราะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าแต่ละงานจะเป็นอย่างไร ผลออกมาดีเกินความคาดหมาย น่าจะเป็นเพราะลูกค้าเราอั้นที่ไม่ได้เดินงานมานาน โดยมีลูกค้าใหม่ที่ตามมาจาก Social Media อีกจำนวนไม่น้อย ความ unusual คือการต้องวางแผนการออกงานที่ไม่สามารถวางแผนได้ ทั้ง items ที่สั่งผลิต สิ่งที่ต้องเตรียม รวมถึงบทบาทของ Social Media ที่เราต้องยอมรับว่าสำคัญมากขึ้นทุกวัน เนื้อหาที่เราพยายามสื่อสารจากโต๊ะทำงานในสตุฯ สู่โลกออนไลน์หลายเดือนที่ผ่านมาเริ่มเห็นผล

Phase VI   •  Slowing Down to Focus on ‘Values’ and ‘Shared Values’

ร่วมสิบเดือนกับการลองผิดลองถูก ทำให้พวกเราเหนื่อยพอควรกับการปรับตัวเพื่อให้มีรายได้ต่อเนื่องพอให้อยู่รอด ในระหว่างการเดินทางนี้ก็เริ่มได้เห็น ‘Path’ หรือ เส้นทาง ว่าภาพความสำเร็จที่แท้จริงแล้วไม่ใช่ภาพหนึ่งภาพ แต่เป็นการเดินทางที่มีการสร้างคุณค่าต่อเรา ช่าง ชุมชน และทุกสิ่งมีชีวิตที่เราได้โอกาสสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เพื่อนร่วมวงการ คู่ค้า ธุรกิจอื่นๆ อย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป แต่ก็ต้องสามารถปรับตัวได้เร็ว เร่งความแรงได้เมื่อจำเป็น ที่เราทำตลอดปีที่ผ่านมาเป็น Growing Pain สิ่งที่เราต้องเผชิญเพื่อเติบโตให้เห็นสิ่งต่างๆชัดเจนขึ้น แม้สภาวะกดดันในทีมได้นำมาสู่ผลงานตามที่ต้องการ ความสำเร็จจะไม่นำมาซึ่งความสุขเลย หากระหว่างทางไม่มีการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและร่วมกันแก้ปัญหา การที่เราสามารถเข้าถึงตลาดวงกว้างได้อาจไม่มีความหมายเลยหากเราไม่สามารถ touch their lives หรือเข้าไปสัมผัสชีวิตผู้คน ร่วมสร้างคุณค่า หรือแก้ปัญหา ช่วยเติมเต็มชีวิตเขาได้ทางใดทางหนึ่ง

การค่อยๆตกผลึกในแนวคิดนี้ทำให้เราเริ่มลดการออกงานอีเว้นท์ และหันมาทำในสิ่งที่เราอยากที่จะทำมากขึ้น เราได้โอกาสจับมือกับธุรกิจที่เห็นคุณค่าร่วมบางอย่างกับเรา เลยเกิด Collaboration กับ CraftNomad x Greyhound ผลิตหน้ากาก Limited Edition Exclusively for Greyhound, Campaign Bespoke Tailored Suites ร่วมกับ SUITCUBE และ หน้ากากผ้าเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับ ALL RIGHT CORP. ใน Campaign ‘No Rain No Flower’

ปลายฝนต้นหนาวนี้พอดีกับอากาศที่ภูหลวงกำลังเริ่มเย็น ประจวบเหมาะกับดอกฝ้ายกำลังบาน เราจึงจัดทริปเก็บฝ้าย “Folkcharm Travels : Let’s Go Cotton Picking” เราพยายามออกแบบทริปนี้ให้เกิด “การเรียนรู้การใช้ชีวิต” ร่วมกับแม่ๆช่างทอผ้าและผู้นำชุมชนแม้ในเวลาอันสั้นเพียงสามวันสองคืน ภายใต้ประเด็นที่สัมพันธ์กับปัจจุบัน รากของวิถีอินทรีย์ การอยู่ร่วมกับป่าและธรรมชาติ วิถีของงานหัตถกรรมพื้นถิ่น เพื่อให้เข้าใจปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สั่งสมมาจากสิ่ง “ผิดธรรมชาติ” ที่เราเห็นในทุกวันนี้อย่างลึกซึ้งขึ้น และจะได้กลับมาสะท้อนถึงการใช้ชีวิตอย่างเข้าใจตนเองและมีคุณค่ามากขึ้น และให้ได้เกิด “บทสนทนา” ในหัวข้อ Social Entreprenuership, Bio-diversity, Human Rights and Women Empowerment ครั้งนีได้จำนวนผู้ร่วมทริปเกินที่ตั้งใว้นิดหน่อย รวม 13 คน จาก 4 ประเทศโดยมีอายุระหว่าง 15 ~ 56 ปี เราจึงจัดกิจกรรมเป็น Bilingual ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ บทสะท้อนของผู้ร่วมทริปทำให้เรารู้สึกอิ่มเอม ว่าเรามาถูกทางแล้วหล่ะ สามารถเข้ามาอ่านรีวิวของเพื่อร่วมการเดินทางนี้ได้ที่นี่

ปลายปีพอดี 2020 ผ่านไปเร็วมาก หากเป็นช่วงนี้ของปีที่ผ่านมา เราก็จะเดินสายร่วมงาน ออกร้านจนถึงสิ้นปี แต่เราตัดสินใจว่าอยากสัมผัส พูดคุย ขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนเรามาตลอดทั้งปีอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ได้มีเวลาพูดคุยแลกเปลี่ยน แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังต้องขายของและระบายสต๊อกคงค้างที่มีจำนวนมากอยู่พอควร เราจึงจัดงาน First Open House and Thank you Party ที่มีเวิร์คชอป เปิดรับ Pre-order และจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ จากปรกติเราไม่เคยลดราคาเลย อากาศเย็นเป็นใจ เราได้มีเวลากับลูกค้าและกัลยาณมิตรตามหวัง และได้ยอดขายเดินคาด… เพราะตั้งใว้ต่ำมาก

Phase VII   •  Last and Most Important : Community Process

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมามีการปรับการทำงานร่วมกับชุมชน พัฒนาคุณภาพ การออกแบบ การตกลงราคาผ้า จำนวนสมาชิกและจำนวนการผลิตมาตลอด เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการและตลาด เมื่อต้นปีเราก็เพิ่งจะเคลียร์รับผ้าที่ค้างในกลุ่มมาที่เราให้หมด เพื่อเริ่มระบบใหม่ โดยจะรับผ้า 1 หมู่บ้านต่อ 1 เดือน และเวียนไปให้ครบ แต่ด้วยสถานการณ์ทำให้เราต้องระงับการรับผ้าชั่วคราวในเดือนเมษายนและพฤษภาคม หลังจากนั้นได้ตัดสินใจลดจำนวนผ้าที่รับลง 60% เพื่อคงสภาพคล่องและทยอยเคลียร์สต๊อกผ้าที่มี เราเดินทางไปชุมชนอีกครั้งในเดือนกันยายน เพื่อเล่าถึงสถานการณ์และทำความเข้าใจ ว่าการทำงานในอนาคตคงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง อาจรับผ้าในจำนวนที่ต่างไปแต่ยังต้องคงคุณภาพ เลยได้โอกาสเชิญคุณปิลันธิ์ ผู้ก่อตังแบรนด์ภูครามจากสกลนคร ไปร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการในชุมชน ความสำคัญของการควบคุณคุณภาพ เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติ และหน้าตาของตลาด ที่ก่อนหน้านี้มีแต่เราที่พยายามสื่อสารให้ทุกคนได้พอเห็นภาพ (รายละเอียดและภาพกิจกรรม)  อีกความร่วมมือหนึ่งที่เราได้ทำในปีนี้คือการจัดกิจกรรมสอนทฤษฏีการย้อมสีธรรมชาติจากวัตถุดิบที่เฉพาะในพื้นที่ จ.เลย ให้กับช่างทอผ้าในหมู่บ้านกกบกและนาหนองบง ทั้งที่เป็นสมาชิก Folkcharm และกลุ่มอื่นๆ ให้มีมาตราฐานเดียวกัน โดยวิทยากรของ Wisdomative กลุ่มนักออกแบบที่รักในการจัดกระบวนการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนางานผ้าทอมือชุมชน กิจกรรมท้ายสุดที่เราตื่นเต้นมากที่ได้ทำ คือการจัด Photoshoot ที่เหมืองไร่ทุงคำ-บ้านนาหนองบงที่ปิดตัวไปแล้วหลังจากการต่อต้านของหมู่บ้านและแม่ๆทอผ้าสู้เหมือง ด้วยคอลเลคชั่นพิเศษจากผ้าที่ทอโดยแม่ๆนาหนองบงทั้งหมด เพราะเราอยากสะท้อนถึงปัญหาที่ซับซ้อนของเหมืองทองและผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่ต้อนนี้รุนแรงมากทั้งด้านผลประโยชน์และสิทธิของชุมชน (article coming soon) นอกจากกิจกรรมภายในชุมชนที่เราทำงานด้วยแล้ว เรายังได้โอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับช่างทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติที่จังหวัดสุรินทร์อีกด้วย อ่านรายละเอียดที่นี่

To Conclude •  KEY PRINCICPLES THAT WE LEARNED IN 2020

Stay true to Yourself in Hyperconsumerism : แม้เราอยู้ในโลกแห่งการบริโภคนิยมและการแข่งขันทางราคาอันหนักหน่วง การลดราคา อาจไม่ใช่ทางออกเสมอไป กลับมามองที่คุณค่า reason for existence ของเรา เข้าใจสถานการณ์ คิด อออกแบบการเดินทาง และผลงาน ให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่าที่ได้รับ ไม่ใช่ลดคุณค่าของงานที่แสนจะตั้งใจทำมาซะดิบดี

Agile in Crises : ปรับตัวให้เร็วในวิกฤต ยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยทำ กล้าทดลอง กล้าพลาด ขอโทษ ให้อภัยตัวเอง แล้วเดินหน้าต่อ แม้มันจะพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้เชื่อใน mission ส่วนวิธีการมันเปลี่ยนได้

Team Spirit : ลงเรือลำเดียวกันแล้วก็ต้องช่วยกันพายให้ถึงฝั่ง ตั้งเป้าไม่ใช่เพื่อต้องสำเร็จ แต่ตั้งเป้าให้เป็นแนวทางเพื่อการตั้งใจทำให้ดีที่สุด ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้เปิดใจ โดยเฉพาะในภาวะกดดัน ฟังเสียงทีม มีอะไรต้องคุยกัน ไม่โทษกันเมื่อพลาด สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและทันท่วงที 

Content is King : การสื่อสาร ยังคงความสำคัญตลอดทั้งปี เล่าเรื่องที่เกิด กระบวนการคิด การออกแบบ แนวทางการทำงาน ไม่ใช้ให้ลูกค้าเห็นใจ แต่เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพและเข้าใจใน journey ของเรา เหมือนเพื่อนที่เข้าใจกัน

Customer Engagement at Heart : แม้เราจะวุ่นขนาดไหน การจัดการหลังบ้านและการจัดเก็บข้อมูลลูกค้าสำคัญมาก อาจเริ่มจากแผ่น Excel ง่ายๆ แต่พอเริ่มเก็บไป จะเริ่มเห็น behavior ความชอบของลูกค้า และเราจะค่อยๆเข้าใจลูกค้ามากขึ้น เป็นหัวใจหลักในการทำงานเลย เพราะเราจะเริ่มเห็น shared values ที่เราและลูกค้ามี เป็นจุดเชื่อมโยงที่จะช่วยให้เราวางแผนเพื่ออนาคตได้ดีขึ้น

ขอให้ทุกคนสนุกกับการเรียนรู้ อย่าลืม ใส่ใจและดูแลตัวเองอย่างดีด้วยนะคะ

. . . . . . . . . .

#ผ้าทอมือ #ผ้าไทย #ฝ้ายไทย #ผ้าฝ้ายทอมือ #ผ้าฝ้ายทอมือสีธรรมชาติ #สีธรรมชาติ #ย้อมสีธรรมชาติ #ผ้าฝ้าย #ผ้าธรรมชาติ #ผ้าออร์แกนิค #ฝ้ายออร์แกนิค #ฝ้ายเข็นมือ #เสื้อผ้ารักโลก #ผ้ารักษ์โลก #เส้นใยธรรมชาติ #แฟชั่นยั่งยืน #หัตถกรรม #ผลิตภัณฑ์ชุมชน #งานฝีมือ #งานแฮนด์เมด #ผลิตภัณฑ์ชุมชน #sustainablefashion #SlowFashion #ThaiCotton #Organiccotton #EthicalFashion #TraceableFashion #TransparentFashion #ThaiFashion #ThaiTextile #Handwoven #Naturaldye #Handmade #handicraft #Handspinning #Ethicalfashion #Fairtrade #ThaiProduct #CommunityProduct #Thaifairtrade #Womenempowerment #handwovencotton