C O – C R E A T I O N | การสร้างสรรค์ร่วม ; ออกแบบร่วม

” C O – C R E A T I O N ”
การสร้างสรรค์ร่วม ; ออกแบบร่วม

หลายคนถามว่า ผ้าและเสื้อผ้า Folkcharm ใครเป็นคนออกแบบ?

จริงแล้ว ในทุกกระบวนการ จะมีการ “ร่วมออกแบบ” กับทั้งคนย้อม คนทอ ตัวเราเอง ช่างแพทเทิร์น และช่างตัดเย็บ โดยเราจะเป็นคนสรุปแบบปรับ พัฒนาก่อนผลิตขาย

ครั้งนี้เราขอยกตัวอย่างเรื่อง “ลายผ้า”
… ทุกครั้งที่เราเข้าหมู่บ้าน เราจะไปแนะนำลายผ้าที่อยากได้ ไปดูระหว่างทอ มีอะไรต้องปรับ พัฒนาหาจุดกลางระหว่างกัน สีที่แม่ๆ ยายๆ ถนัดย้อม คุณภาพสี การจับคู่สี ผ้าบางม้วนก็ได้ตามที่ต้องการ บ่อยครั้งแม่ๆ รังสรรค์ลายเองได้สวยงามเกินความคาดหวังของเรา แต่หลายทีก็ได้ผ้าที่ไม่ได้คุณภาพ หรือสี-การผสมสี ยังไม่ได้เป็นดังหวัง

เรา “ซื้อหมด” หมายความว่าเราไม่ได้ชอปปิ้งผ้าโดยเลือกเพียงลายที่ชอบ หรือม้วนที่คุณภาพดี ดีไม่ดี เรารับ กระบวนการนี้แม้เป็นสิ่งที่ดี ก็ป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ‘ดี’ เพราะเรามองว่า ควรต้องมีรายได้เหมาะสม ต่อเนื่อง ร่วมพัฒนาและให้กำลังใจคนที่ตั้งใจทำทุกคนอย่างเท่าเทียม เพื่อให้วิถีนี้คงใว้ได้จริงๆ แต่ ‘ท้าทาย’ เพราะเราต้องหมุนเงินจำนวนมากในแต่ละเดือน เพื่อนำเงินกลับเข้าระบบ โดยต้องพิถีพิถันในการเลือกใช้ผ้า (ที่มูลค่าสูง) นี้อย่างเหมาะสมในเสื้อผ้าแต่ละแบบ ผ้ามีหนามีบางขึ้นอยู่กับคนเข็นเส้นฝ้าย-ความแน่นในการกระแทกฟืม การออกแบบดีไซน์แบบไหนที่เหมาะกับผ้า ที่ใส่สบาย แต่มีเอกลักษณ์ไปในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ถูกใจลูกค้า และคงความเป็นแบรนด์เราได้ อีกทั้งต้องจัดการกับผ้าไม่ได้คุณภาพที่รับมาแต่นำมาตัดไม่ได้ ต้องใช้กระบวนการในชุมชนอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขี้นอีก และยังคงใว้กับความสัมพันธ์ที่ดี

ยกตัวอย่างเช่นเสื้อเชิ้ตชายชุดนี้ ทอจากผ้ากี่เดียวโดยยายจ๊อก หมายความว่าลายที่เห็นทั้งสองลาย ลายทาง และลายตาราง สืบเส้น-เริ่มขึ้นกี่ครั้งเดียว ระหว่างที่ทอ “ลายร่อง” อยู่ได้ครึ่งทาง เราก็ชวนแกทอขัด ให้เป็นตาราง จึงได้ผ้าม้วนนี้มา ที่ใช้ฝ้ายตุ่ยธรรมชาติ ฝ้ายขาว และสีเขียวย้อมใบเอ็นหม่อน การเล่นลายในตัวเดียว เป็นสิ่งที่ Folkcharm ทำเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การใช้ผ้าทอจากกี่เดียวลักษณะนี้เป็นครั้งแรก ผ้าม้วนนี้เนื้อไม่หนาเหมาะกับการตัดเสื้อ และป็นลายที่ออกโทนเข้ม เหมาะกับผู้ชาย เราจึงนำผ้าม้วนนี้มาตัดเชิ้ตชายแขนยาวลายทาง และแขนสั้นลายตาราง