“เลย” เถิด ไปกับ Folkcharm
REFLECTION ON FOLKCHARM TOUR
Photos and Story by Gift Preekamol Chantaranijakorn
October, 2018
“Gift” Preekamol Chantaranijakorn is the Co-Founder of Ma.D Club for Better Society who is now studying Drama and Movement Therapy at Royal Central School of Speech and Drama, London
เป็นทริปที่ตัดสินใจด่วนจริงๆ เห็นโพสท์ก่อนวันเดินทางแค่ 2 วันเท่านั้น เราเองกับพี่ลูกแก้ว FolkCharm รู้จักกันตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว จริงๆแล้ว เราสองคนก็เริ่มต้นความฝันเรามาในเวลาใกล้ๆกัน จะว่าไป เราเห็นแต่ผ้า เห็นผลิตภัณฑ์ที่สวยและพัฒนาขึ้นทุกวัน เห็นการเติบโตของคนทำงาน ของกิจการ เรารู้จักคำว่า ผ้าฝ้ายเข็นมือ ย้อมสีธรรมชาติ ครั้งแรกจาก FolkCharm นี่แหละ แต่การได้ยินคำ เห็นรูปภาพ มันก็ไม่ทำให้เราเข้าใจมันจริงๆเหมือนประสบการณ์ตรง
“ไป” คำสั้นๆที่เป็นจุดเริ่มของทุกอย่าง เราออกเดินทางวันที่ 4 และจะสิ้นสุดทริปกันวันที่ 6 กันยายน
เรียกได้ว่าเป็นทริป ตามรอยจุดกำเนิด FolkCharm ที่ภูหลวง วังสะพุง จังหวัดเลย ไปทดลองเล่นกับฝ้าย ตั้งแต่ไปดูไร่ฝ้ายต้นจิ๋วๆ กระบวนการเอาเมล็ดออก ตีฝ้ายให้ฟู เก็บม้วนเพื่อเอาไปเข็นเป็นเส้นใยอีก เป็นเส้นแล้วเอาไปย้อมสีธรรมชาติ ย้อมเสร็จค่อยเอาไปทอ ทอแล้วก็เอาไปตัดเย็บ! อู้ววว กว่าจะมาเป็นเสื้อ 1 ตัว
นี่เล่าแบบสรุปรวบรัดมากๆ เชื่อว่าถ้าทุกคนได้ลองมีประสบการณ์กับกระบวนการจริง จะรู้สึกถึง “ใจ”ของคนทำจริงๆ ทุกขั้นตอนใช้ความใส่ใจและความรักสูงมากๆ
“ทำไมแพงขนาดนี้ ราคานี้ซื้อของแบรนด์เมืองนอกดีกว่ามั้ย”
พี่ลูกแก้วเล่าสิ่งที่ลูกค้าโวยวายให้ฟังด้วยน้ำเสียงคับข้องใจ กับประเด็นเรื่องการเปรียบเทียบฉาบฉวยคุณค่าเพียงจากคำว่า แบรนด์ไทย หรือแบรนด์นอก โดยไม่ได้สนใจเรื่องที่มาของสิ่งที่ซื้อ ไม่ได้สนใจว่า กระบวนการผลิตมันจะขูดรีดใครบ้าง ราคาจึงถูกขนาดนั้น ไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่เรากำลังอุดหนุนนั้นอาจทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
อันที่จริง เข้าใจได้จริงๆที่คนจะรู้สึกแบบนี้ และก็คงเป็นพวกเราที่ต้องช่วยกันบอกเล่าบางเรื่องราวออกไป
การมาทริปนี้ ได้รู้สึกถึงการทำงานของ FolkCharm ในแต่ละขั้นตอน ทั้งหมด 9 ขั้นตอน ยังไม่รวมตั้งแต่การปลูกต้นฝ้ายแบบอินทรีย์ ไม่รวมการออกแบบ ไม่รวมการนำผลิตภัณฑ์มาถึงมือคนซื้อ!! แต่ละขั้นตอนใช้หัวใจมากจริงๆ
“ถ้าไม่รักมัน ป้าไม่ทำแล้ว มันใช้เวลาเยอะ ซื้อเอา” ป้าคนนึงเล่าให้ฟัง
“เดี๋ยวนี้การผลิตมันง่าย ถ้าไม่ทำเองก็แค่ซื้อของสำเร็จมาทำเลย เร็วมากและราคาถูก” ลุงอ๊อตเสริม
ทุกคนในทริปก็ลองง่วนกับการทำ เรารู้เลยว่า มันไม่ใช่แค่ขั้นตอนเยอะ แต่ว่าแต่ละขั้นตอนอาศัยความชำนาญสูง ทุกขั้นตอนใช้ความเพียรพยายาม บางขั้นตอนนี่ต้องจิตว่าง (การเข็ญ) บางขั้นตอนต้องใช้ความสร้างสรรค์และจินตนาการ (การทำสีธรรมชาติ) พี่ป้าน้าอาคือนักวิทยาศาสตร์จริงๆ อีกสิ่งที่มหัศจรรย์มากคือเรื่องสีธรรมชาติ แต่ละวัตถุดิบที่นำมาใช้ เปลี่ยนภาชนะสีก็เปลี่ยน ผสมบางวัตุดิบ สีจะทนขึ้น โดนแดดมากน้อย สีเข้มต่างกัน คือ เล่นแร่แปลธาตุได้เยอะ สนุกมากๆ
ตรงนี้พีคมากเลยสำหรับเรา เราได้ยินมานานกับคำว่าผ้าฝ้ายเข็นมือ แต่เพิ่งเข้าใจ คือการทำจากปุยฝ้ายมาเข็ญให้เป็นเส้นด้ายทีละเซนติเมตรด้วยมือและเครื่องเข็ญจากภูมิปัญญา ยากที่จะทำให้เส้นฝ้ายเท่ากันเป๊ะ ต่างจากการทำเส้นด้ายจากโรงงานมาก เป็นความยาก แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์ของชิ้นงาน
FolkCharm Crafts ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า ไม่น้อยไปกับการที่ชาวบ้านทุกคนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่น้อยไปกว่าการที่แคร์ว่าเราจะไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม
พี่ลูกแก้วรับซื้อทั้งหมด เพราะใส่ใจว่าป้าทำงานแล้ว เราต้องรับซื้อจ่ายเงินเลย ป้าๆต้องกินต้องใช้ โดยที่บางทีไม่ได้ชัดเจนเรื่องแผนการตัดเย็บหรือขายด้วยซ้ำ (ใจมาก แต่ดีกับธุรกิจมั้ยนี่อีกเรื่องนึง และเรื่องนี้ทำให้เราเห็นชัดมากว่าพี่ลูกแก้วให้ความสำคัญกับอะไร)
นอกจากเรื่องผ้าแล้ว อาหารทุกมื้อฟินมาก เรียกได้ว่ากินอย่างราชา ผักแต่ละชนิดคือแทบไม่รู้จักแต่รสชาติและกลิ่นเทพมาก สิ่งที่พี่ป้าน้าอาเก็บวัตถุดิบมาทำอาหารให้ มาจากในป่า มาจากในนา ในไร่ ในสวนเกษตรผสมผสานแบบอินทรีย์ล้วนๆ มีสาหร่ายแม่น้ำด้วยนะ กลับจากทริปนี้น้ำหนักขึ้นกันทุกคนค่า โดนแซวตลอดว่าใช้เวลากินรวมๆมากกว่าเล่นกับฝ้ายอีก
ยังมีความฟินจากการไปเที่ยวเล่นน้ำตก นั่งหลังกระบะรับลมชมสายรุ้ง ไปดูจุดชมวิวที่สวยไปด้วยภูเขารายล้อมยามพระอาทิตย์ตก และยังมีประสบการณ์พายุฝนโหมกระหน่ำไฟดับ ดินเนอร์ใต้แสงเทียนของจริงไม่ต้องประดิษฐ์อีกด้วย สิ่งสำคัญสุดๆคือผู้คนที่มาเชื่อมโยงกันในทริปนี่ล่ะ ตัวพี่ลูกแก้วคนจัดทริป พี่ป้าน้าอาที่ดูแลพวกเราอย่างดี เพื่อนใหม่ชาวญี่ปุ่น 2 คน เพื่อนไต้หวัน พี่แอ๊นท์ และคุณสามี ทุกคนรักในการเล่น เรียนรู้ ซึมซับ แล้วก็ดูแลกันและกัน ใช้ภาษาปนๆกันไปมา ไทยกลาง ไทยเลย อังกฤษ ญี่ปุ่น ภาษามือ ภาษาเสียง น่ารักมากจริงๆ เป็นทริป “เลย” เถิด ที่เอาทั้งตัวและหัวใจไปจริงๆ
ปัจจุบัน FolkCharm ร่วมทำงานกับสตรีที่ทำงานที่บ้านกว่า 50 คน ใช้ฝ้ายออร์แกนิคทั้งหมด มีทั้งที่ปลูกเอง และรับฝ้ายมาจากกิจการเพื่อสังคม Green Net ย้อมสีธรรมชาติ โดยที่รายได้ 50% จากการขาย กลับเข้าสู่ชุมชนที่พี่ลูกแก้วทำงานด้วย
พี่ลูกแก้ว สร้างแบรนด์ FolkCharm ด้วยหัวใจจริงๆ ทุกขั้นตอนการผลิต และผู้คนที่ร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ก็ใช้หัวใจไปด้วยกันกับพี่ลูกแก้ว
มันคงจะดีจริง ถ้าผู้บริโภคจะใช้หัวใจในการซื้อสินค้าด้วย นอกจากเรื่องราคา ถ้าใส่ใจมากขึ้นว่าเงินไปที่ไหน ที่มาของสินค้าเป็นยังไง เบียดเบียนผู้คนหรือสิ่งแวดล้อมมั้ย สินค้าสร้างคุณค่าให้ใครบ้าง
#ผ้าทอมือ #ผ้าไทย #ฝ้ายไทย #ผ้าฝ้ายทอมือ #สีธรรมชาติ #ย้อมสีธรรมชาติ #ผ้าฝ้าย #ผ้าธรรมชาติ #ผ้าออร์แกนิค #ฝ้ายออร์แกนิค #ฝ้ายเข็นมือ #เสื้อผ้ารักโลก #ผ้ารักษ์โลก #เส้นใยธรรมชาติ #แฟชั่นยั่งยืน #หัตถกรรม #ผลิตภัณฑ์ชุมชน #งานฝีมือ #งานแฮนด์เมด #ผลิตภัณฑ์ชุมชน #ผ้าฝ้ายทอมือสีธรรมชาติ #sustainablefashion #SlowFashion #ThaiCotton #Organiccotton #EthicalFashion #TraceableFashion #TransparentFashion #ThaiFashion #ThaiTextile #Handwoven #Naturaldye #Handmade #handicraft #Handspinning #Ethicalfashion #Fairtrade #ThaiProduct #CommunityProduct #Thaifairtrade #Womenempowerment