[ Co-create with Community ]
Quality Control 101
“ต้องฆ่าฝ้ายให้ตาย”
แม่รสบอก . . .
ประชุมใหญ่คราวนี้ หัวข้อหารือหลักคือเรื่อง
[ คุณภาพผ้า ]
ที่เราพยายามพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ใช้เวลาและความเข้าใจพอสมควร
เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ของเราเพิ่งจะเริ่มกลับมาทอผ้าฝ้ายเข็นมือ
และหลายคนไม่เคยทอผ้าเพื่อรายได้มาก่อนมาเป็นสมาชิกโฟล์คชาร์ม จึงต้องใช้เวลาฝึกฝนและเรียนรู้ไปด้วยกัน
ทั้งเราเอง ที่ค่อยๆ พัฒนามาตราฐานผ่านประสบการณ์และคำแนะนำจากลูกค้า
ส่วนแม่ๆ ยายๆ ช่างทอก็ฝึกฝนไป โดยได้ช่างที่มีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำ
ที่ผ่านมา คุณภาพดีขึ้นมาก แต่ก็ยังต้องการการพัฒนาต่อเนื่องกันอยู่ดี
ฝ้ายเข็นมือ = เส้นฝ้ายที่ถูกปั่นเส้นด้วยมือ
จะมีลักษณะเฉพาะ ตรงที่เส้นจะหนาบางไม่เท่ากัน จึงจะทอให้แน่นและเสมอยากกว่า ‘ฝ้ายโรงงาน’
ทั้งการเข็นมือ ก็ต้องใช้ความชำนาญและเวลาพอสมควร
เส้นฝ้าย 1 กก. ใช้การเข็นเต็มวันถึง 2 วัน
เราใช้เวลาหารืออย่างเปิดอกร่วมกันกับ 3 หมู่บ้านกว่า 2 ชั่วโมง
เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันว่า
[ คุณภาพผ้า ] เป็นความรับผิดชอบร่วมของทุกคน ต้องมีมาตราฐานเดียวกัน
เพราะเราทำงานเป็นกลุ่ม หากดีก็จะได้มีงานต่อเนื่องกันทั้งกลุ่ม
เสียลูกค้าก็จะเสียกันทั้งกลุ่ม
เราสามารถสรุปได้ว่า . . .
[ ฝ้ายเข็นต้องหัน ]
สะอาด มีขี้ฝ้ายให้น้อยที่สุด
คือในระหว่างที่ปุยฝ้ายกำลังถูกปั่นเป็นเส้นโดยหลาปั่นฝ้าย
ต้องถูกตีเกลียวให้ดี เพื่อได้เส้นฝ้ายที่เหนียว ไม่ขาดหรือฟูง่าย
[ ต้องฆ่าฝ้ายให้ตาย ]
เส้นฝ้ายเข็นจะต้องถูกนำมาต้มจนจม = ฝ้ายตาย
และถูกทุบ หรือที่นี่เรียกว่า ฆ่า จนเส้นฝ้ายเหนียวแน่น
แช่น้ำไม่ต่ำกว่า 5 คืนโดยเปลี่ยนน้ำตลอด
และนำมาต้มอีกครั้งในน้ำข้าวที่มีส่วนผสมของข้าวจ้าวและข้าวเหนียวที่พอเหมาะ คือ 2 : 1 ไปอีกเป็นชั่วโมง
[ ย้อมให้นาน ]
ใช้ปริมาณสีย้อมที่เหมาะสมกับเส้นฝ้าย ล้างฝ้ายจนน้ำใสเพื่อให้เห็นสีแท้ของฝ้ายก่อนนำมาทอ
[ ค้นฝ้าย สืบเส้นและนับอย่างมีสติ ]
อีกทั้งเส้นยืนต้องตึงเสมอกัน ไม่อย่างนั้นจะมาเส้นย้อยตลอดผืนผ้า
[ ทอให้แน่น ]
โดยฝ้ายเข็น 1 กก. ควรจะทอผ้าได้ 4-5 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของเส้น
คุยกันรู้เรื่องบ้าง งงกันเองบ้าง เถียงกันบ้าง หัวเราะกันบ้าง
พยายามความเข้าใจให้ตรงกัน สรุปประเด็นเป็นข้อๆ ให้เข้าใจง่าย
พูดซ้ำหลายรอบหน่อย ช่วยกันเตือน ช่วยกันอธิบาย
เพราะเกือบครึ่งหนึ่งของสมาชิกเราเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก
หลายคนอายุเกิน 70 แล้ว ก็ต้องหาวิธีค่อยๆ ทำความเข้าใจกันไป
ขอขอบคุณคุณลูกค้าที่คอยเป็นกำลังใจกันและยังอุดหนุนกันตลอดมา
ที่ผ่านมา ผ้าแต่ละม้วนที่เรานำมาตัด อาจมีคุณภาพที่ไม่เท่ากัน
แต่เราก็กำลังพยายามพัฒนาอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง
เพื่อได้ผ้าที่มีมาตราฐานเดียวกัน
. . . แล้วโฟล์คชาร์มจะดูแลคุณภาพอย่างต่อเนื่องได้ยังไง ?
ทำยังไงกับผ้าที่ไม่ผ่านคุณภาพ ?
<< โปรดติดตามตอนต่อไป >>