Our Founder’s Most In-depth Interview with CreativeCitizen [Thai]

Our Founder’s Most In-depth Interview with CreativeCitizen [Thai]

Source: http://creativecitizen.com/passawee-tapasanan-folkcharm-crafts/

September 2017

‘ภัสสร์วี ตาปสนันทน์’ กับ FolkCharm Crafts แบรนด์เสื้อผ้าทอออร์แกนิกฝีมือช่างทอพื้นบ้าน

“เราพบความจริงที่ว่าโลกนี้มีคน 2 ประเภท หนึ่ง-คนที่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร สอง-คนที่ไม่รู้ แต่ว่าลองเสาะแสวงหา” ลูกแก้ว – ภัสสร์วี ตาปสนันทน์ บอกกับเราว่าเธอเป็นคนประเภทหลัง และแบรนด์เสื้อผ้าทอออร์แกนิกจากฝีมือช่างทอพื้นบ้านของเธออย่าง FolkCharm Crafts ก็เกิดขึ้นด้วยวิถีแบบเดียวกันนี้

นอกจากจะเป็นแบรนด์ที่มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่ลูกแก้วให้ความสำคัญมากพอๆ กับการสร้างรายได้ที่เป็นธรรมแก่ชาวบ้าน โดยไม่หลงลืมคุณค่าของภูมิปัญญาดั้งเดิม ทุกๆ ผืนผ้าที่เกิดขึ้นจากกระบวนการออร์แกนิกตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางของ FolkCharm Crafts ยังบอกเล่าเรื่องเล่าของชุมชนที่สร้างทุกผืนผ้าออกมาได้อย่างดี และการเดินทางในธุรกิจเพื่อสังคมของเธอแม้จะผ่านเส้นทางที่แสนขรุขระมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ในความขรุขระนั้นก็ได้นำมาซึ่งเส้นทางสายใหม่ที่เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยพลังที่เหลือล้นมากจริงๆ

Q: คุณแก้วเริ่มสนใจเรื่องการพัฒนาสังคมมาตั้งแต่ตอนไหน?A: จริงๆ ก็ชัดเจนกับตัวเองว่าอยากทำงานสายนี้มาตั้งแต่มัธยม แต่ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าจะด้านไหน พอดีแก้วไม่ได้เรียนในระบบ เลยสอบเอ็นทรานซ์ไม่ได้ ตัวเลือกเลยมีไม่มาก ปริญญาตรีแก้วเลยเลือกเรียนคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งระหว่างเรียนธรรมศาสตร์ก็ทำงานพาร์ทไทม์เป็นนักข่าว ไปอ่านข่าวทางวิทยุ หลังจากนั้นก็ไปเป็นผู้ช่วยนักข่าวญี่ปุ่น เริ่มทำงานองค์กรระหว่างประเทศ ทำงานไปได้สักพัก ก็รู้สึกว่าอิ่มตัวและคิดว่าถ้าไม่มีความรู้ก็คงทำอะไรไม่ได้ เลยตัดสินใจเลือกเรียนต่อสาขาการวางแผนพัฒนาภูมิภาคและชนบทที่ AIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย) พอจบก็มาอยู่ สสส. ทำงานด้านวิเทศสัมพันธ์ จริงๆ ตั้งใจจะอยู่แค่ปีเดียว แต่ก็ทำไป 3 ปีครึ่ง สนุกดีนะ ซึ่งสำหรับ สสส. ทำงานเกี่ยวกับสังคมก็จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำ เหมือนกับเราไปตอบโจทย์คนอื่น แล้วก็อารมณ์ไม่โตหนักมาก ซึ่งตอนนั้นไม่เด็กแล้ว 26 แล้วด้วย เลยออกมาทำองค์กรระหว่างประเทศอีกครั้ง ทำงานเอกสาร ซึ่งรูปแบบงานก็ต่างออกไปจากที่เราต้องใช้สมองเยอะ เป็นงานกึ่งวิชาการ มาทำงานเปเปอร์ ทำข้อมูล ก็ยังรู้สึกไม่ใช่ตัวเอง ช่วงนั้นโครงการ BANPU Champions for Change ปี 4 พอดีค่ะ แล้วแก้วรู้จักกับคุณสุนิตย์ (เชรษฐา) จาก Change Fusion ตั้งแต่ทำงานที่ สสส. เลยได้คุยกับแก แกก็บอกว่ามาสมัครสิ

Q: นั่นคือจุดเริ่มต้นของ FolkCharm Crafts?

A: ใช่ค่ะ FolkCharm Crafts เริ่มต้นจากที่แก้วชอบผ้าไทยมานานแล้ว ติดตามผลิตภัณฑ์ OTOP มาตลอด มีงานที่ไหนก็ไป แต่ก็สังเกตตัวเองว่า เฮ้ย ทำไมไปทีไรไม่ได้อะไรกลับมาเลยสักครั้ง ถ้าคุณภาพไม่โอเค ก็แพงมากไปเลย มันไม่มีอะไรระหว่างกลาง ทำให้ตั้งคำถามและอยากรู้กับสิ่งที่เจอตรงนั้น แล้วตอนที่แก้วทำวิจัย แก้วทำเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมของสตรีที่ทำงานที่บ้าน แก้วเลือก OTOP เพราะว่าชอบผ้าชอบคราฟท์ ก็ไปเก็บข้อมูลที่อำเภอปักธงชัย เลยรู้ปัญหาว่าทำไมป้าๆ ทอผ้าด้วยเทคนิคที่ยากมาก ทอเก่งมาก ทอเทพมาก แต่ได้เงินน้อยจัง เขาได้ผืนละ 3-4 พัน แต่ 3-4 พันนี่คือทั้งเดือนนะ ซึ่งถ้ามาดูราคาผ้าไหมมัดหมี่ที่กรุงเทพฯ สูงไปถึง 7-8 พันเลย ซึ่งพอเทียบรายได้กับค่าใช้จ่าย ไหนจะค่าเส้นไหมซึ่งก็แพงอยู่แล้ว ยิ่งผ้าไหมเวลาทำมัดหมี่ เขาย้อมเคมีและย้อมมือ สุขภาพไปหมดเลยนะ ตั้งแต่ระบบการหายใจ เราก็เลยคิดว่าช่องว่างตรงนี้เยอะเกินไป บวกกับเวลาเดินทางมาที่นี่ แก้วจะเจองานที่เหมือนกันไปหมด หรือคุณภาพยังไม่ดีพอเวลาซื้อของ เช่น กระเป๋า ซื้อมาก็ไม่ถูกนะ แต่ใช้ได้แค่ 2-3 ครั้ง ก็ขาดแล้ว จากประสบการณ์ที่เจอ คำถามที่เกิดขึ้น เลยทำให้แก้วตัดสินใจเข้าร่วมโครงการของบ้านปูในครั้งนั้น

Q: แนวคิดหลักของ FolkCharm เป็นอย่างไร?

A: ธีมหลักๆ ของ FolkCharm คือทุกอย่างจะ locally source จริงๆ ยกเว้นซิป YKK อิมพอร์ตมา (ยิ้ม) ไม่ว่าจะเป็นผ้าซับใน ถึงจะมาจากโรงงานแต่ก็เป็นโรงงานในเมืองไทย ใช้ฝ้าเส้นยืนที่เป็นออร์แกนิค 100 เปอร์เซ็นต์ จาก Greennet SE ส่วนฝ้ายจากชุมชนถึงจะยังไม่ได้ใบรับรองเรื่องฝ้ายออร์แกนิก แต่เราพูดได้เพราะเห็นกระบวนการ คือปลูกเองแบบไร้สารเคมี กระบวนการของชาวบ้านเขาสุดยอดมากๆ

Q: แล้วตอนที่ไปทำงานกับชาวบ้านเป็นอย่างไรบ้าง การเป็นคนแปลกหน้าที่เข้าไปทำงานร่วมกับคนพื้นที่ เล่าประสบการณ์ตอนนั้นให้ฟังหน่อย?

A: แก้วเริ่มตอนทำโครงการบ้านปู แค่เริ่มก็เฟลเลยนะ เราเริ่มต้นกับกลุ่มที่เขาทำผ้าขาวม้า แล้วตอนนั้นก็ไม่ได้ซีเรียสว่ามันต้องออร์แกนิกหรือธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ พอยิ่งทำก็ยิ่งอิน ตอนแรกก็ช่วยป้าๆ คือโลกสวย เป็นเด็กกรุงเทพฯ แต่ทำจริงๆ ปัญหาคือเยอะมาก มีแต่ปัญหา (หัวเราะ) ด้วยความที่เป็นเด็กกรุงเทพฯ เขาก็คิดว่าเรามีเงิน พอเราบอกราคาไปเขาก็เอา ซึ่งราคามันสูงแบบไม่มีเหตุผล สูงแบบขายต่อไม่ได้อะไร สองคือเขาทำไม่ตรงตามออร์เดอร์ แต่ต้องซื้อขึ้นมา ถึงปัญหาจะเยอะ แต่ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากเหมือนกัน

หลังจากนั้นได้เจอกับอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มนี้เขาทอผ้ากันอยู่แล้ว มีองค์กร NGO สนับสนุนตั้งแต่ต้น อยู่ที่จังหวัดเลย ที่นี่เมื่อสมัย 50 ปีที่แล้วคือเมืองฝ้าย แต่ตอนนี้คนปลูกฝ้ายน้อยมากเพราะโดนพืชเศรษฐกิจเข้ามาแทนที่ ทั้งไร่ข้าวโพดและยางพารา เมื่อเป็นแบบนั้นทำให้ชาวบ้านไม่ได้ทอผ้า ป้าๆ กลุ่มที่แก้วไปทำงานด้วยมีเครือข่าย ซึ่งเรียกว่า ‘มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ตอนนี้ก็ยังทำงานนี้อยู่นะคะ โดยแก้วรู้จักพี่ในนั้นซึ่งเป็นรุ่นพี่ AIT เขาพาไปลงชุมชนนี้ ทางมูลนิธิฯ ก็บอกว่ากลุ่มนี้มีศักยภาพสูงมาก ตอนที่เข้าไป ก็ถามลุงว่ามีปัญหาอะไรไหม ซึ่งผ้าที่เขาทำเป็นเส้นยืนเส้นพุ่งเป็นฝ้ายเข็นมือหมด ซึ่งยากมากและสวยมาก ก่อนหน้านี้มีองค์กรต่างๆ ไปจ้างให้เขาทำผ้าขนหนู ผ้าอ้อม ทำได้หลายอย่างและหลากหลายด้วย แต่มันมีข้อจำกัดในกลุ่มคนทอที่สามารถทำได้เฉพาะผ้าเมตร เห็นประเด็นเรื่องรายได้ของชาวบ้านและช่างทอที่มีอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ เลยลองดู แต่แล้วอะไรหลายๆ อย่างก็เกิดขึ้นในชุมชน เพราะชุมชนนี้มีคนดูแลอยู่แล้ว ตอนนั้นถึงขั้นจะล้มเลิกเลยนะ

สุดท้ายแก้วก็ฮึดอีกรอบ ด้วยการไปหากลุ่มใหม่ ก็ยังทำเหมือนเดิม แต่แก้วอยากลองเลือกลุงป้า เลือกคนทอเอง อยากเล่าเรื่องวิถี เรื่องป้าๆ ช่างทอ เพราะก่อนหน้านั้นเราไม่สามารถเล่าเรื่องกลุ่มนั้นได้เลยเพราะเขามีคนดูแลอยู่ ระหว่างนั้นก็ได้รับโทรศัพท์จากลุงที่อยู่ในชุมชนนี้ ว่าลุงไม่ได้เป็นประธานกลุ่มทอผ้านั้นแล้วนะ (และแก้วก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้นด้วย) โดนกระแสต่อต้านแรงอยู่ ตอนนั้นเฟลมากในชีวิตและต้องคิดหนักว่าจะลุยต่อหรือเลิก เหมือนเราไปป่วนระบบ ไปสร้างปัญหาในชุมชน คิดอยู่หลายเดือน สรุปได้ว่าเราไม่ควรหนีปัญหา เริ่มแล้วก็ต้องทำ เอาให้สุด เลยโทรกลับไปหาลุง ตอนนี้เลยแยกเป็น 2 กลุ่ม ท้ายที่สุดก็ได้ทำงานกับลุงและกลุ่มที่แยกมาพร้อมลุง ซึ่งเราเรียกพ่อ (พ่ออ๊อต ตองหว้าน) ตอนนั้นเอาจริงๆ กลัวมากว่าจะไปไม่รอด แต่พ่อว่าแกเชื่อใจเรา และต้องทำงานด้วยกันต่ออย่าง ‘มีคุณธรรม’ แล้วมันจะไปได้ ด้วยความที่แกมีเครือข่ายอยู่แล้ว แกก็ได้ชวนหมู่บ้านอื่นมาทอด้วย

Q: กระบวนการทำงานของ FolkCharm กับชาวบ้านเป็นอย่างไร?

A: กระบวนการทำงานก็คือ มีพ่อเป็นคนดูแลตรงกลาง แล้วก็มีแม่ๆ ทอผ้าให้ ตอนแรกเริ่มจาก 4-5 คน แต่ตอนนี้มีประมาณเกือบ 30 คน จาก 4-5 หมู่บ้าน ซึ่งมีคนที่ทอจริงจังเลยประมาณ 20 คน แม่ๆ ที่เหลือก็จะทอกันตามฤดูกาล เพราะแกทำอย่างอื่นด้วย ทอผ้าด้วย แก้วทำงานกับกลุ่มทอผ้าธรรมชาติลุ่มน้ำฮวย หนึ่งในหมู่บ้านสมาชิกใหม่คือบ้านนาหนองบง ซึ่งแก้วเข้าไปตอนที่เขาไม่ค่อยทอผ้าฝ้ายเข็นแล้ว เพราะว่าเหนื่อย แล้วก็ไม่ได้เงิน พอแก้วเข้าไปก็ไปชักชวนจนแม่ๆ รู้สึกมีอาการอยากกลับมาทอ เพราะเคยได้รางวัลเข็นฝ้ายเก่งที่สุดในจังหวัด แต่ที่ไม่ได้ทำฝ้ายเข็นเพราะว่าตลาดไม่ต้องการ แล้วราคามันก็สูง

Q: โมเดลของ FolkCharm Crafts ไปช่วยสังคมอย่างไรบ้าง?

A: แก้วมองว่า ethical fashion ควรจะมีอยู่ในเมืองไทยได้ ตอนนี้ที่นี่มีตลาด Volkskraft มีเครือข่ายของ SE ด้านคราฟท์ด้วย ซึ่งแก้วพยายามทำให้มันเป็นกึ่งการสร้างความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้และให้สังคมตระหนักมากขึ้น หาตลาดที่มั่นคงให้เขาได้ ให้รายได้ที่เหมาะสม ถามว่ารายได้ที่เหมาะสมคืออะไร แก้วก็ไปเซอร์เวย์ถามเพื่อนๆ ว่าตลาดเขาให้กันเท่าไหร่บ้าง มาดูค่าแรงขั้นต่ำ คุยกับลุงป้าว่าเขาใช้เวลาทำเท่าไหร่ เช่น วันหนึ่งทอได้ 2 เมตร ค่าแรงควรจะได้เท่าไหร่ ต้นทุนฝ้ายเท่าไหร่ เราก็พยายามคุมราคาต้นทุน ต้องคิดและประมวลข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเพื่อให้เกิดระบบการค้าที่เป็นธรรม พยายามคุยเพื่อหาตรงกลางที่สมเหตุสมผลกับทุกฝ่าย ในอนาคตสิ่งที่แก้วอยากทำให้เกิดขึ้นคือให้งานกำลังทำอยู่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอให้คนรุ่นต่อไป ให้่พวกเขาไม่ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ สามารถทำงานอยู่ที่บ้านเกิดแล้วมีรายได้ที่เลี้ยงตัวเองได้แบบไม่ลำบาก ไม่จำเป็นต้องห่างลูก ซึ่งเด็กๆ มีช่องว่างที่กว้างมากระหว่างเขากับคนรุ่นตายายเพราะพ่อแม่ต้องเข้ามาหางานทำในเมือง ก็กลายเป็นเด็กมีปัญหา ซึ่งปัญหานี้ยังเรื้อรังอยู่

Q: แล้วอย่างนี้ FolkCharm Crafts ได้รายได้จากตรงไหนบ้าง?

A: จากการขายของของเรา แก้วไปรับผ้ามาจากป้าๆ ที่ จ.เลย มาใช้เป็นวัตถุดิบ จากนั้นก็เอามาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ FolkCharm Crafts ปีที่แล้วโอเคเลย ขายดีระดับหนึ่ง จนถึงจุดที่ไม่ไหว เพราะคนทอยังไม่เยอะ ผ้าเลยไม่พอขาย มาปีนี้เลยต้องหาวิธีกันใหม่ แต่ถามว่ารายได้พอไหม คือยัง เพราะเราสายป่านไม่ยาว แก้วตั้งใจว่าจะไม่มีหนี้ ก็เลยไม่กู้ ไม่ขอยืมใคร ใช้เงินตัวเองลุงทุน

Q: แล้วความรู้เรื่องผ้ามาจากไหน?

A: หลังจากที่แก้วออกจากงาน แก้วไปเรียนด้านคราฟท์ที่ Kanazawa College of Art 3 เดือนครึ่ง เขาดังด้านคราฟท์มาก เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ญี่ปุ่นที่มีหม้อครามลึก 2 เมตร ตอนนั้นแก้วเรียนทอผ้า ย้อมผ้า ทำให้รู้จักเทคนิคต่างๆ ซึ่งถ้าไม่มีตรงนั้นก็คงคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ส่วนลวดลายต่างๆ แก้วคุยกับเขาว่าต้องการแบบไหน แล้วก็ต้องปรับกันเยอะพอสมควร ต้องกำหนดให้เลย เช่น ขอสีขาว 5 เส้น สีน้ำตาล 1 เส้น ก็ทำให้ป้าๆ เข้าใจมากขึ้น ได้อย่างที่แก้วต้องการ

Q: ได้นำความรู้ที่มีมาพัฒนาในส่วนของงานทอ เช่น ลวดลายหรือเทคนิคบ้างไหม?

A: แก้วไม่ได้เป็นดีไซเนอร์ แก้วเรียนพัฒนาชนบท สินค้า FolkCharm เป็นไลฟ์สไตล์โปรดักท์ ซึ่งเรื่องออกแบบไม่ได้หวือหวา แต่แก้วจะให้ความสำคัญในการทำ QC แก้วจะไม่ปล่อยของออกไปถ้ามันไม่เวิร์ก ถ้าผิดแก้วเรียกกลับหมดเลย เพราะไม่คุ้ม ถึงแม้ว่าจะเป็นกระเป๋าราคา 200 บาท หรือซิปหลุดแก้วก็รับซ่อมค่ะ ใช้ไปแล้ว 3 เดือนก็ซ่อม เรารู้สึกไม่ดีที่เอาไปแล้วไม่ทน แต่ก็ต้องให้ลูกค้าเข้าใจข้อจำกัดของผ้าทอและงานมือ อย่าง MUJI เสื้อผ้าของเขามีอยู่ 5-6 แบบ แต่เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของการขาย ประเด็นก็คือว่าจริงๆ ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องแฟชั่น แต่สิ่งที่ขายได้คือเสื้อผ้าที่ใส่ง่ายๆ ใส่ได้ทุกวัน เน้นความเป็นไลฟ์สไตล์ ถ้าคนมองของก็จะเห็นว่า FolkCharm จะมีความเป็นญี่ปุ่น เพราะเด็กๆ แก้วโตที่ญี่ปุ่น ไปเรียนต่อที่คานาซาว่า แล้วก็แต่งงานกับสามีชาวญี่ปุ่นด้วย เพราะฉะนั้นความเป็นญี่ปุ่นอยู่ในสายเลือด แพทเทิร์นต่างๆ ก็จะเรียบๆ ลายใส่ได้ในชีวิตประจำวัน บางคนก็บอกนะว่าธรรมดาเกินไป เรียบเกินไป ซึ่งก็ยอมรับนะ เพราะว่าเราก็ไม่ได้เป็นดีไซเนอร์ แต่ถามว่าเราภูมิใจมั้ย – ไม่ใช่ภูมิใจ เราพอใจกับสิ่งที่ทำ เราอยากทำให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด ส่วนการพัฒนาทักษะนั้นก็มีค่ะ แม่ๆ บางคน แต่ก่อนเขาทอไม่สวย หลังๆ ก็ค่อยพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ โดยให้กลุ่มแม่ๆ ที่เก่งแล้ว ไปช่วยสอน

Q: สินค้าของ FolkCharm Crafts ขายที่ไหนบ้าง?

A: ตอนนี้ขายที่งาน Volks Kraft (www.facebook.com/volkskraft.thailand) เป็นตลาดของ ethical craft รวมถึงงานที่รวมผลิตภัณฑ์คราฟท์ต่างๆ ปีที่แล้วก็จะมีออกร้านในงานของศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) ขายในเว็บไซต์ (www.folkcharm.com) และเฟซบุ๊ค ตอนนี้ก็โอเคนะ ถ้ามีหน้าร้านก็ดีงามอยู่เหมือนกัน เพิ่งคิดได้ว่าน่าจะมี ตอนนี้จะดู 2 ตลาด คือญี่ปุ่นกับเกาหลี เพราะว่าญี่ปุ่นมีเครือข่ายผ่าน SE ในญี่ปุ่นอยู่แล้ว เพราะเขาอยากสนับสนุน SE ในอาเซียน แล้วก็ได้ไปงาน Seoul International Handmade Fair แก้วโชคดีว่าเครือข่ายเยอะมาก เพราะไม่ค่อยได้ลงทุนเรื่องการตลาดเลย

Q: ใครที่ซื้องานของ FolkCharm บ้าง?

A: ตอนแรกเราคิดไว้เลยว่าจะเห็นภาพเด็กรุ่นใหม่ กลุ่มนี้ต้องอินกับเสื้อผ้าเรามากๆ แต่เอาเข้าจริงกลุ่มนี้ไม่ซื้อเพราะแพง (หัวเราะ) เวลาออกงาน เด็กเข้าร้านเยอะมาก เขาชอบแต่ไม่สู้ราคา ซึ่งเราเข้าใจนะเพราะเด็กสมัยนี้แฟชั่นหนักมากอยู่ แต่ ethical เป็น slow fashion ซึ่งเสื้อผ้าที่เราเห็นในปัจจุบัน ถ้าไปดูวัสดุจะพบว่าเป็นเส้นใยสังเคราะห์ประเภทโพลิเอสเตอร์และไนลอนเยอะมาก ซึ่งไม่ย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง แล้วกว่าจะมาถึงขั้นตอนที่สมบูรณ์เป็นเสื้อผ้าที่เราสวมใส่นี่ก็ใช้น้ำมันเยอะมาก มลพิษหนักมากด้วย ซึ่งเด็กๆ ส่วนหนึ่งถ้าเขาใส่เสื้อผ้ามาเจอเพื่อนคนนี้แล้ว 1 ครั้งก็จะไม่ใส่อีกแล้ว เจอเพื่อนครบ 3 กลุ่ม เสื้อผ้านั้นจบใช่ไหม แต่แก้วเอง เวลาใส่เสื้อผ้า เราจะใส่จนขาดจนพัง นั่นก็เป็นสิ่งที่เราเอามาเป็นแก่นของ FolkCharm ที่พยายามทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณภาพใช้ได้นานๆ ทั้งในแง่การใช้งานและรูปแบบ กลุ่มที่จะสนใจเสื้อผ้าเราจะอายุประมาณ 20 ปลายๆ ถึงประมาณ 50, 60 ซึ่งจะมองความสบาย เรื่องการใช้งาน กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่แก้วขายได้ แล้วที่อยู่ได้จริงๆ เลยเพราะลูกค้าประจำ

Q: เสื้อ 1 ตัว ของ FolkCharm ราคาอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่?

A: ราคาอยู่ที่ประมาณ 780-2,400 บาท ถูกที่สุดจะเป็นเสื้อแขนกุด แพงที่สุดคือชุดแซค แต่ทุกอย่างส่วนใหญ่จะอยู่ที่พันกว่าบาท ซึ่งนั่นเกิดจากเรามีต้นทุนเรื่องผ้า ราคาผ้าที่แก้วคุยไว้กับป้าๆ จะอยู่ที่เมตรละ 300 บาท รวมค่าขนส่ง บวกค่าตัด ค่า logistic ซึ่งราคาที่เกิดขึ้น เราพยายามหาตรงกลางที่หนึ่ง ป้าๆ จะต้องอยู่ได้ ลูกค้าสามารถจ่ายไหว รวมถึงธุรกิจเราดำเนินไปได้ด้วย ถ้าแพงไปก็ขายยาก ตอนนี้อยู่ได้ดีระดับหนึ่ง แต่ก็มีทั้งช่วงพังและช่วงดี

Q: ในช่วงปีกว่าๆ ที่ FolkCharm เริ่มต้นจนขยับขยายมาถึงปัจจุบัน FolkCharm อยู่ในระดับไหนแล้ว ใกล้เป้าหมายที่เราวางไว้แล้วหรือยัง?

A: ยังยาวไกลมาก (หัวเราะ) เป้าหมายที่เราตั้งไว้ในช่วงเวลานี้คือถ้าได้ตลาดที่ยั่งยืนกว่านี้ ที่มั่นคงกว่านี้ ก็จะดี เพราะตอนแรกเราอินมาก ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย แก้วไม่สนใจเรื่องตัวเลข แต่ความเป็นจริงไม่ได้แล้ว พังหมด แล้วกลายเป็นว่ามีค่าใช้จ่ายเยอะซึ่งหากมีตลาดที่มั่นคงได้เมื่อไหร่ นั่นคือจุดที่แก้วพอใจแล้วจบ

Q: ตลาดที่มั่นคงคืออะไร?

A: คือการมีฐานลูกค้าประจำที่มั่นคงในประเทศไทย แล้วสามารถส่งออกได้เป็นร้านที่รับสินค้าเราเรื่อยๆ ตอนนี้แก้วจะมีลูกค้าอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นคอร์ปอเรทที่รับสินค้าแอคเซสเซอรี่ไปเป็นของขวัญ เช่น ช่วงปีใหม่ กับกลุ่มที่สองคือคนทั่วไป ซึ่งถ้าชัดเจน เราก็จะรู้แล้วว่าควรจะพอจุดไหนกับการทำงานร่วมกับชุมชน แก้วมองว่าถ้าเราทำงานของเราให้ดี เราจะได้ไปช่วยคนอื่นได้ แก้วอยากทำงานกับชุมชนให้มีคุณค่าและลึกกว่านี้ ดีกว่าที่เรากว้างขวางเหลือเกิน แต่เหนื่อยมาก ตรงนี้เป็นปัญหาของ SE ทุกคน เพราะทุกคนวิชั่นใหญ่มาก อยากทำเยอะมาก แต่เอาเข้าจริงกลับทำไม่ได้ (หัวเราะ)

Q: ตอนนี้ นอกจากผลิตภัณฑ์แล้ว เรื่องระบบต่างๆ ของ FolkCharm เป็นอย่างไรบ้าง?

A: เรื่องบัญชี การสต๊อกสินค้า ดูเพจ อยากทำระบบหลังบ้านให้ได้ดีกว่านี้ ข้อมูลและภาพในเว็บ ถ่ายเองเขียนเอง ยังไม่โปรมาก เลยจะต้องไปโฟกัสตรงนั้นมากขึ้น

Q: ความยากของการทำ SE ที่คุณแก้วมาเห็นผ่านการทำ FolkCharm คืออะไร?

A: ขึ้นอยู่กับว่าใครมองว่ายากและเป็นความยากของใคร อย่างเช่น SE ส่วนใหญ่ถ้ามองนะคะ จะมี 2-3 อย่างหลักๆ หนึ่ง คือ NGO เก่า ที่คิดแล้วว่าถ้าไม่เปลี่ยนก็อยู่ไม่ได้ เพราะตอนนี้เงินทุนไม่มีจากต่างประเทศแล้ว อีกกลุ่มก็คือกลุ่มเด็กๆ ที่ทำธุรกิจแล้วมาทำ SE สำหรับ NGO ปัญหาหลักก็คือเรื่องธุรกิจเพราะเขามาสายสังคมเป็นหลัก เข้าใจบริบทของชุมชนเป็นอย่างดี แต่ว่าไม่สามารถดึงตัวเองออกมาเป็นโมเดลทางธุรกิจได้ ส่วนคนที่มาจากสายธุรกิจ ก็จะไม่ค่อยชุมชนเลยว่าทำงานกับป้าๆ อินดี้ต้องทำอย่างไร คือต้องทำความเข้าใจใหม่เลยนะ เขาก็จะมีความอินดี้ของเขาอยู่ แก้วว่าช่องว่างค่อนข้างเยอะสำหรับคนที่ทำธุรกิจแล้วไปทำทางสังคม เด็กรุ่นใหม่อาจจะคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้อง 1 2 3 4 5 แต่พอทำงานจริงมีปัญหาเยอะมากนะ เพราะฉะนั้น โจทย์ต้องชัดว่าเราจะทำอะไร เราต้องมองตรงไหน

Q: การได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอยู่กับชุมชนคุณแก้วได้รับอะไรกลับมาบ้าง และอยากแนะนำสิ่งที่คุณแก้วเจอให้กับคนที่สนใจเข้ามาทำงานด้านสังคมและอยากอยู่รอดด้วยว่าอย่างไร?

A: สิ่งที่พบคือ มีคน 2 ประเภทในโลก หนึ่ง – คนที่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร กับสอง – คนที่ไม่รู้แต่ว่าลองเสาะแสวงหา แก้วเป็นคนแบบที่ 2 ก่อนที่แก้วจะมาทำ FolkCharm แก้วทำได้ทุกอย่าง ดีไม่ดีไม่รู้แต่ทำได้ทุกอย่าง ตอนอยู่ สสส. แก้วทำงานได้เหมือนเป็ด ทำได้ทุกอย่างเลยนะ แต่กลับมามองตัวเองก็พบว่าเราไม่เก่งอะไรสักอย่าง ไม่มีความเชี่ยวชาญใดๆ เลย ซึ่งแก้วว่าเด็กสมัยนี้เป็นกันเยอะ เพราะทุกอย่างหาข้อมูลได้ง่ายมาก หลายๆ คนอยากทำ SE เพราะรู้สึกว่าตอบโจทย์ทั้งใจตัวเองและได้ช่วยเหลือผู้อื่นด้วย สิ่งที่แก้วอยากบอกคืออย่ากลัวการออกมาจากกล่องของตัวเอง แก้วเชื่อว่าทุกคนจะมีความกลัวเยอะมากว่าจะทำได้หรือเปล่า ทำแล้วจะเป็นอย่างไร ฉันไม่มีความรู้ด้านนี้ ฉันรู้แค่ตรงนี้ แต่เอาเข้าจริงพอถึงจุดที่ต้องทำ ก็ต้องทำ เพราะฉะนั้นไม่มีใครเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ทำได้ทุกอย่าง

ถ้าจะฝากถึงน้องๆ ก็คือถามใจตัวเองให้ได้ก่อนว่าอยากทำจริงหรือเปล่า นึกออกไหม ไม่ใช่มโนไปเองว่านี่เป็นสิ่งที่ควรจะทำอะไร ถ้าตอบได้ รู้ว่าเราอยากทำอะไร ก็จะทำได้เอง แต่ก่อนแก้วก็เป็นเด็กเกเรหนักมาก ไม่ค่อยเรียน แต่ทุกซัมเมอร์จะต้องมีโปรเจ็กต์ เป็นคนชอบงานฝีมือ ทุกซัมเมอร์จะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าจะเปลี่ยนทุกซัมเมอร์เหมือนกัน แก้วว่าเด็กสมัยนี้เป็นอย่างนั้นเยอะ แต่เมื่อเรารู้ว่าเราอยากให้อะไรมันเกิดขึ้น ก็จะทำได้เอง จะโฟกัสได้เอง ตอนที่ทำอยู่ในองค์กร คุณจะไม่เห็นอะไรเยอะเท่ากับออกมาทำเอง ใช้เวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ได้อยู่แต่ในออฟฟิศที่เดียว ทำให้เห็นอะไรเยอะมาก

สิ่งที่แก้วเรียนรู้คือเรื่องคนนี่แหล่ะ เรามองออกเลยว่าคนไหนจริงใจ คนไหนไม่จริงใจ ซึ่งสอนให้เราโตขึ้นเยอะมากๆ อย่างป้าๆ ที่ทำงานด้วยกัน แก้วต้องปรับตัว วางตัว กว่าที่ป้าเหล่านี้จะเชื่อใจเราก็ใช้เวลานานมากนะ ต้องหาตรงกลางที่ไม่ให้เขาเอาเปรียบเราและเราไม่ไปเอาเปรียบเขาด้วย ซึ่งจุดกลางตรงนั้นยากที่สุด ถ้าใครจะมาทำงานให้กับชุมชน ต้องเรียนรู้ไว้เลยว่าการทำความเข้าใจชุมชนตัวเองเยอะๆ คือสิ่งสำคัญ

Q: มุมมองหรือความคิดของตัวเองเปลี่ยนไปไหมหลังจากมาทำงานตรงนี้?

A: ถ้าเป็นเรื่องงานก็อินมากขึ้นกับสิ่งที่ทำอยู่ ตอนแรกแก้วคิดว่าปัญหาที่เราอยากจะแก้มันเล็ก แต่พอทำจริงๆ ปัญหาใหญ่กว่าที่เราคิดเยอะ ไม่ใช่ปัญหาสิ ประเด็นใหญ่กว่านั้นเยอะ อย่างเช่นที่บอกว่าทำไมถึงใช้สีธรรมชาติ ข้อแรกเพราะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและแก้วพยายามไม่สร้างขยะ ใช้ทุกอย่างอย่างประหยัด ใช้ของรีไซเคิล ที่ทำทุกอย่างนี้ก็เพราะ ถ้าเราคิดว่าเราเป็น SE แล้วไปรบกวน ทำตัวไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม – มันก็ไม่ใช่ ตอนนี้มีฝ้ายในโลกไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นฝ้ายออแกนิค พอเรารู้สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งอินว่าสิ่งที่เราทำอยู่จะตอบโจทย์สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ทำไมเราต้องใช้ของดีๆ เพราะตัวเราเองก็ยังไม่ได้อยากซื้อของไม่ดีเลย เราเองยังไม่อยากซื้อของที่รู้ว่าเขาทำกันอย่างมักง่าย เราต้องการทำของให้ดีเพราะฉะนั้นก็จะยากและลำบากกว่าคนอื่น

ส่วนความคิดด้านสังคม มุมมองต่ออะไรต่างๆ ก็ไม่ถึงกับเปลี่ยนนะ แต่ทำให้คิดได้ว่า ชีวิตไม่มีอะไรเลย ทำให้รู้ว่าอะไรสำคัญกับเรา อะไรไม่สำคัญกับเรา เวลาลงชุมชน ลงพื้นที่ แค่มีเป้กับถุงนอนก็อยู่ได้แล้ว นอนไหนก็ได้ ของในกระเป๋าก็มีอยู่แค่นั้น ไม่จำเป็นต้องมีของแพง เพราะไม่ต้องใช้อะไร การใช้ชีวิตจริงๆ เรามีของจำเป็นไม่กี่อย่าง ซึ่งสำหรับแก้วตอนนี้รู้แล้วว่าสิ่งฟุ่มเฟือยที่สำคัญที่สุด 2 อย่างของชีวิตคือ คอมพิวเตอร์กับมือถือ เพราะต้องใช้ในการทำงาน นอกนั้นไม่ได้ซื้ออะไรใหม่เลย เพราะไม่จำเป็น การทำงานตรงนี้ทำให้แก้วมองความสำคัญของสิ่งของน้อยลงและอยู่ง่ายขึ้นมาก

Q: สำหรับชุมชนละคะ เป็นอย่างไร?

A: ที่เห็นชัดๆ จากปีที่แล้ว ก็ทอกันชิลๆ พอมีรายได้เพิ่ม จำนวนผ้าที่ทอเยอะขึ้น ป้าๆ ก็ทอเก่งและเร็วขึ้น รายได้สูงขึ้น แล้วปกติเขาทออย่างเดียว ไม่เคยเห็นว่าเสื้อผ้าที่ทำจากฝีมือการทอของเขามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แก้วเอาเสื้อผ้ากลับไปให้เขาดูว่าเป็นแบบนี้นะ ขายราคาเท่าไหร่ก็บอก พอได้เห็นได้รู้ เขาก็เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น รู้ว่าสิ่งที่เขาทำมีคุณค่ามากกว่าที่คิด ตรงนั้นแก้วคิดว่ามีความสุขนะ แก้วไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขาคิดอย่างนี้รึเปล่า ต้องไปถามเขาเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างแม่แอ๋ว ภรรยาพ่ออ๊อตที่ดูแลกลุ่ม ช่วงที่มีปัญหาแล้วพ่อโดนปลด แม่แกเฟลเลยนะ เป็นโรคเครียดแบบหนักมาก แต่ตอนนี้ยิ้มแย้ม มีความสุข พอเริ่มทำได้เกือบปี ก็กลับไปที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะทุกครั้งที่แก้วลงชุมชนก็ไปนอนที่นี่ เลยลองถามว่าสนใจปลูกฝ้ายกันอยู่ไหม จริงๆ พูดมา 2 ปีเขาก็ไม่สนใจ จนกระทั่งเห็นเราเริ่มขายได้จึงไปเอาเมล็ดพันธุ์มาปลูก เริ่มปลูกปีที่แล้วเป็นปีแรก ปีนี้เลยได้ผลิตผลซึ่งเยอะมาก ดังนั้นกระบวนการของเราในปีนี้คือจะมีป้าๆ ที่ปลูกฝ้ายให้ แล้วก็มีป้าๆ ทอผ้าอีก 4-5 หมู่บ้าน อยู่ในจังหวัดเดียวกันแต่คนละอำเภอ แก้วมองว่าในอนาคตคือจะเอาฝ้ายจากตรงนี้มาฟีดให้กับกลุ่ม เพราะการซื้อฝ้ายจากจังหวัดอื่นแพง แล้วก็ไม่ได้มาจากท้องถิ่น 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เราไม่รู้ว่าออแกนิกจริงหรือเปล่า ธรรมชาติจริงไหม แต่ที่นี่เขาไร้สารเคมีจริง ย้อมสีธรรมชาติ นี่คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานที่เกิดขึ้นและน่าจะเป็นฐานที่ขยายขึ้นในอนาคต

เอาเรื่องใจดีกว่า แก้วรู้สึกว่าคอนเน็กชั่นระหว่างแก้วกับเขามีมากขึ้นนะ แต่ก่อนจะมีระยะห่างกัน พอทำงานกันไปเรื่อยๆ ตอนนี้คือชวนแก้วไปงานทำบุญที่บ้านแล้ว แบบมีงานบุญไปไหม ไปนอนวัดกัน ความสัมพันธ์เปลี่ยนไป แก้วว่าตรงนั้นมันดีงามนะ จากตอนแรกเขามองเราเป็นเด็กกรุงเทพฯ มาทำอะไร จนตอนนี้กลายเป็นว่าเห็นเราเป็นลูกเป็นหลานแล้ว แก้วว่าตรงนั้นสำคัญที่สุด

Q: ความสุขในการทำงานปัจจุบันคืออะไร?

A: แก้วเป็นคนแบบเหว๋อ ว้าวุ่น คิดและวางแผนตลอดเวลา คิดว่าต้องทำโน่นนี่นั่น 1 2 3 4 5 อันนี้คือข้อเสีย แต่เวลาเราไปต่างจังหวัด ไปหาป้า ไปลงชุมชน สมองแก้วตัดเลยนะ ซึ่งมันแปลกมาก เป็นโหมดที่เหมือนเราปิดสวิทซ์ตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองจิตไม่วุ่นวายตอนอยู่บ้านนอก รู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น นิ่งขึ้น ซึ่งแต่ก่อนเวลาอยู่ในกรุงเทพฯ เราต้องเร็ว ไลฟ์สไตล์ต่างกันเยอะ อยู่นั่นเขาชิล เขาตื่นเช้ามาทำงาน ตกดึกไฟดับทั้งหมู่บ้าน ซึ่งพอเราไปต้องปรับตัว ให้อยู่ง่ายๆ ซึ่งตรงนี้แหละที่แก้วเรียกมันว่าความสุข การได้อยู่ช้าๆ บ้าง ได้เจอป้าๆ ได้เห็นผ้าที่ทอจะมีความสุขมาก หรือแค่ลูกค้าส่งข้อความมาบอกว่าชอบของมากเลยค่ะ ของดีจัง แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

Q: ใครคือต้นแบบในการทำงาน?

A: แก้วไม่ได้มีต้นแบบแค่คนเดียว มีหลายคนที่เราเรานับถือในคนละด้าน การใช้ชีวิต การทำงาน การใช้ทักษะ อย่างเรื่องทักษะ แก้วมีครูเอก – สุพิศ สุวรรณมณี เป็นต้นแบบเรื่องการทอผ้า แกเก่งมากในการทำสีธรรมชาติ เป็นนักทดลอง ลองทุกอย่างว่าอะไรดีอะไรไม่ดี เป็นคนทำจริงในสิ่งรัก ต้นแบบในการเป็นนักคิดที่มี compassion คือพี่สุนิตย์ เชรษฐา ต้นแบบในการใช้ชีวิต แก้วมอง พี่อ้วน (คมกฤช ตระกูลทิวากร) และพี่แพท (กฤติยา ตระกูลทิวากร) แก้วอยากใช้ชีวิตแบบนั้นนะ เรารู้สึกว่าชีวิตมีแค่นั้นจริงๆ