เทศกาลอาหารพื้นบ้านดอกฝ้ายบาน ณ ขุนเลย

เทศกาลอาหารพื้นบ้านดอกฝ้ายบาน ณ ขุนเลย
18 – 27 มกราคม 2562

งานนี้จัดโดยสมาชิกบ้านศรีเจริญและโคกหนองแห้ว อำเภอภูหลวง เพื่อชักชวนทุกคนมาสัมผัสวิถีการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ทั้งอาหารการกินที่ใช้ผักและสมุนไพรพื้นถิ่น วิถีการทำผ้าฝ้ายแบบดั้งเดิม วิวทิวทัศน์ที่สวยแบบแทบจะหยุดหายใจ

กลุ่มปลูกฝ้ายทอผ้าขุนเลย เป็นเครื่อข่ายกับโฟล์คชาร์มที่กำลังเติบโต และเป็นกลุ่มแม่บ้านรุ่นที่สืบทอดจากผู้เฒ่า (30 ปลาย ~ 60 ขวบ) แม่ๆ ปลูกฝ้ายและทำหน้าที่ย้อมผ้าทอผ้า โดยให้ผู้เฒ่าในชุมชนเข็นฝ้ายเป็นเส้น เพราะเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ไม่ใช้แรงแต่ใช้ความเชี่ยวชาญและเวลา กลุ่มขุนเลยจะต่างจากกลุ่มทอผ้าลำน้ำฮวย สมาชิกหลักของเราที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เฒ่ากันแล้ว การแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มจึงสำคัญมาก ความเก๋าจากกลุ่มลำน้ำฮวย และความสดใหม่ในการทดลองการทอและการย้อมสีจากวัตถุดิบต่างๆของขุนเลย เป็นตาคักแท้

ภาพแม่ๆ ยายๆ จับเข่าคุยกันภาษาฝ้ายนี้น่าจดจำมาก แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคกัน ช่วยเหลือกันด้านวัตถุดิบ กระตุ้นจุดพลังแห่งการอยากสร้างสรรค์และทดลองอะไรใหม่ๆ ให้ลุกโพลนขึ้นอีกครั้ง

งานนี้ได้เห็นการเชื่อมโยงของเครือข่ายเกษตรกรวิถีธรรมชาติและอินทรีย์ที่ทางองค์กรพัฒนาต่างๆ ได้สร้างสมใว้เป็นสิบๆ ปี (เช่น มูลนิธิเลยฯ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ สกว. ฯลฯ และอีกหลายองค์กรที่เราไม่สามารถเอ่ยได้ครบ)
เราดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งแม้ส่วนน้อยในการให้เครือข่ายได้มาพบปะหารือกันอีก เชื่อมโยงด้วย “วิถีฝ้าย” ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ การปลูก ย้อมสียังไง ควบเส้นแบบไหน ตรวจผ้าทอยังไงก่อนตัด แลกเปลี่ยนวัตถุดิบ ช่วยกันคิดกันไป

“ทอผ้ามายี่สิบกว่าปี ไม่เคยรู้เลยเค้าเอาไปขายเท่าไหร่ ไม่เคยเห็นว่ามันออกมาเป็นยังไง ไม่เคยได้พบคนซื้อ” แม่เปลี่ยนบอกกับเราหลังจากกลับมาจากงาน

ร่วมกับผลิตภัณฑ์จากสมาชิกขุนเลย เราได้โอกาสนำผลิตภัณฑ์ที่ตัดเย็บจากกรุงเทพไปร่วมแสดงที่งานด้วย แม่ๆที่มาจากกลุ่มลำน้ำฮวยได้เห็นเสื้อผ้าหลากหลายจากผ้าที่ตนทอ ได้เห็นป้ายที่ติดราคา ภาพกลุ่มทอ และป้ายอธิบายคุณค่าฝ้าย ทั้งที่ติดอยู่กับเสื้อ และที่เราใช้สื่อสารกับลูกค้าเวลาออกงาน ได้เห็นเราพูดคุยกับแขกในงาน เพื่ออธิบายสรรพคุณผ้า…

เรื่องราคา เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่พ่อค้าแม่ค้าคนกลางส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสื่อสารกับผู้สร้างสรรค์งาน แต่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไป เรามีเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ท โลกโซเชี่ยล มันง่ายที่ต้นทางจะรู้ปลายทาง ซึ่งเราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งสำคัญคือควรอธิบายให้เข้าใจเช่นกันว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกว่าจะมาเป็นเสื้อหนึ่งตัว กว่าจะนำมาขายได้ในห้าง ค่าจัดการและค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นอย่างไร เพื่อให้ “รู้เขารู้เราอย่างโปร่งใส” …

ความโปร่งใสในกระบวนการจึงสำคัญยิ่ง ทั้งการสื่อสารกับผู้บริโภคถึงคุณค่า และการสื่อสารกับผู้ผลิตถึงกระบวนการกว่าจะส่งต่อถึงมือลูกค้า

ทางฝรั่งเค้าเรียกกระบวนการนี้ว่า “access to information” การเข้าถึงข้อมูล เป็นหนึ่งในประเด็นที่นำมาสู่ “Empowerment” การให้อำนาจ กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งจะนำมาถึง “Decision Making” การตัดสินใจว่าจะทำงานกับใคร และการตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งเป็น outcome ผลที่ปรากฏของการ Empowerment ที่แท้จริง

*งานนี้จัดโดยกลุ่มออมทรัพย์ขุนเลย มูลนิธิเลยฯสนับสนุนโดย สกว.และ BEDO

**ข้อมูลเรื่องการท่องเที่ยว ติดต่อ ขุนเลย
https://www.facebook.com/saweangFlaps